Healthy Tip

5 สุดยอดอาหารชะลอวัย ไกลโรค (1)

5 สุดยอดอาหารชะลอวัย ไกลโรค (ตอนที่ 1)

โดย นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากการป้องกันตนเองไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายด้วยการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์แล้ว  การเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สร้างเกราะป้องกันที่อยู่ภายในร่างกายอย่างระบบภูมิคุ้มกันให้พร้อมรับมือกับเชื้อโรคที่อาจเข้ามาจู่โจมก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน อาหารที่เราเลือกรับประทานก็ย่อมมีความสำคัญ เพราะอาหารแต่ละชนิดนั้นอาจมิได้ให้เฉพาะพลังงานหรือมีสารอาหารเพียงชนิดเดียว  แต่อาจอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ที่สามารถช่วยบำรุงฟื้นฟูร่างกาย

ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆได้  วันนี้หมอมีสุดยอดอาหารชะลอวัย ไกลโรคสูตรหมอแอมป์ ทั้งหมด 5 ชนิด เรามาเริ่มต้นตอนนี้ด้วย  2 ชนิดแรกที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน  ต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ต้านการอักเสบ และชะลอวัยห่างไกลโรคมาแนะนำกันครับ

1. ขมิ้นชัน (Turmeric)

เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันดีเพราะใช้มาตั้งแต่อดีต มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. ชื่อท้องถิ่นในประเทศไทยที่ใช้เรียก เช่น ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้) เป็นต้น โดยคนไทยมักนำเหง้ามาเป็นยารักษาโรค เป็นเครื่องปรุงในอาหาร หรือนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า สารสำคัญในขมิ้นชันที่แสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามีอยู่ 2 ชนิด คือ น้ำมันหอมระเหย (essential oil) และสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) นักวิจัยทั่วโลกนำสารสำคัญของขมิ้นชันมาศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ ทำให้พบว่าขมิ้นชัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านจุลินทรีย์ ต้านเอนไซม์ที่เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์  บรรเทาอาการข้ออักเสบ และลดความเสี่ยงจากภาวะแมตาบอลิคหรือโรคอ้วน [1,2,6] ซึ่งมีคุณประโยชน์และมีสารออกฤทธิ์สำคัญ เช่น

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity)

สารเคอร์คิวมิน (Curcumin) จากขมิ้นชันมีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) โดยช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่กำจัดสารอนุมูลอิสระ (Free radical) ในเลือด อาทิ ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (superoxide dismutase; SOD) กลูตาไธโอน เปอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase; GSH) และลิพิดเปอร์ออกซิเดส (lipid peroxides) และเมื่อเปรียบเทียบกับพืชในวงศ์เดียวกันพบว่าขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด [4]

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory activity)

เซลล์ในร่างกายที่เกิดการอักเสบก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นนั้น เป็นสาเหตุนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น  โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เมตาบอลิกซินโดรม และโรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งขมิ้นชันมีฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการสร้างสารที่เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ หรือที่เรียกว่าสาร NF-kB  [5]

ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ (antimicrobial activity)

การศึกษาในปัจจุบันพบว่า เมื่อใช้สารเคอร์คิวมินร่วมกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน จะช่วยเสริมฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่ช่วยลดอาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และต้านเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา (Candida) ซึ่งมักพบการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง หรือช่องคลอด อย่างไรก็ตามการใช้สารสกัดจากขมิ้นชันเพียงอย่างเดียวในการต้านจุลินทรีย์อาจต้องทำการศึกษามากขึ้น [6]

ข้ออักเสบ (Arthritis)

สารเคอร์คิวมินจากขมิ้นชันช่วยต้านการอักเสบและยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวด และให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน อย่างไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แต่ผลข้างเคียงจากการระคายเคืองทางเดินอาหารน้อยกว่า และยังช่วยเสริมฤทธิ์ บรรเทาอาการปวดอักเสบเมื่อใช้ร่วมกับไดโคลฟีแนค  ขมิ้นชันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) [7]

ภาวะแมตาบอลิก (Metabolic Syndrome)

สารเคอร์คิวมินช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน (Insulin sensitivity) ลดการสร้างเซลล์ไขมัน ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต และไขมันในเลือด อย่างการเพิ่มระดับของไขมันดี (HDL-Cholesterol)  ลดระดับไขมันเลว (LDL-Cholesterol) และลดไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ในเลือด         อีกทั้งช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากเซลล์ไขมัน ในกลุ่มของคนที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน [1]

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

สารเคอร์คิวมินนอยด์ (Curcuminoids) ในชมิ้นชันช่วยต้านการสร้าง Beta-amyloid ในสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Acetylcholinesterase ซึ่งล้วนช่วยคงระดับสาร acetylcholine ในสมองไม่ให้ถูกทำลาย อีกทั้งฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของขมิ้นชันยังมีส่วนช่วยในการชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย [8]

ข้อระวัง: การรับประทานขมิ้นชันหรืออาหารทุกชนิดควรต้องยึดหลักทางสายกลาง เพราะแม้ว่าจะมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแต่หากรับประทานมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้ เช่น เป็นพิษกับตับ ไต  เนื่องจากพืชประเภทหัวต้องระวัง อาจพบสารหนู ปรอท ตะกั่ว ตกค้าง หากรับประทานมาเป็นเวลานานจึงควรไปตรวจสุขภาพเพื่อดูโลหะหนักในเลือดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยารักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขมิ้นชันในรูปแบบอาหารเสริม เนื่องจากอาจมีผลกับยาที่ทำงานเมตาบอลิซึมผ่าน Cytochrome P450 ซึ่งถ้ารับประทานอย่างเหมาะสมก็จะปลอดภัย อย่างไรก็ตามการรับประทานขมิ้นชันในรูปแบบอาหารควรล้างขมิ้นชันให้สะอาด รับประทานกับน้ำพริก กับแกง รับประทานด้วยการปรุงอาหารแบบวิถีไทย ขมิ้นชันก็ถือเป็นยาชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกาย ปลอดภัยห่างไกลโรคได้ครับ

 

2. มะขามป้อม (Indian Gooseberry)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica Linn ในอดีตที่มีสรรพคุณ และเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรไทยที่ใช้กันแพร่หลาย อาทิ ตำรับตรีผลา  รวมถึงการรับประทานกันอย่างแพร่หลายในรูปแบบผลสดและสารสกัด  ปัจจุบันมีหลายๆการศึกษาพบว่ามะขามป้อมมีฤทธิ์ช่วยคืนความอ่อนเยาว์ (Rejuvenator) และถูกนำมาใช้เพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์  ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น รักษาอาการท้องผูก ช่วยลดไข้ ลดอาการไอ ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย[10] อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารพฤกษเคมี และมีคุณสมบัติสำคัญดังนี้ 

มีวิตามินซีสูง (Ascorbic acid)

ในปริมาณที่สูง สูงกว่าส้มหรือมะนาว หากเรารับประทานมะขามป้อมสด 4 ผล จะได้รับวิตามินซีสูงถึง 100 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับการรับประทานส้มถึง 6 ผลเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ อย่าง แทนนิน (tannin) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้มะขามป้อมมีรสฝาด แทนนินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols)      แทนนินในสารสกัดมะขามป้อมมี 4 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ Emblicanin A, Emblicanin B, เพดังคูลาจิน (Pendunculagin)      และ พูนิกลูโคนิน (Punigluconin) อีกทั้งมะขามป้อมยังอุดมด้วย แร่ธาตุ โปรตีน และกรดอะมิโน เช่น กรดกลูตามิก (glutamic acid) กรดแอสปาร์ติก (aspatic acid) อะลานีน (alanine) และไลซีน (lysine) รวมถึงพบสารพฤกษเคมีอื่นๆ เช่น เควอซิทิน (quercertin) ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) กรดแกลลิก (gallic acid),กรดแอลลาจิก (ellagic acid) กรดชิบูลาจิก (chebulinic acid) ซึ่งล้วนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ [10,11]

ช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)

เนื่องจากมะขามป้อมอุดมด้วยวิตามินซี และสารพฤกษเคมีหลากหลายชนิด จึงมีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ [12] มีการศึกษาพบว่า มะขามป้อมช่วยลดระดับของการเสื่อมสภาพของลิพิดที่เยื้อหุ้มเซลล์ (lipid hyperoxide) และช่วยลดอนุมูลอิสระ (free radical หรือ reactive oxygen species;ROS) นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มระดับของเอนไซม์กลูตาไธโอน และสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ อีกหลายชนิด[13]

กระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunostimulant)

มะขามป้อมเป็นแหล่งของวิตามินซี ซึ่งพบว่ามีฤทธิ์ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์เพชฌฆาตอย่าง Natural Killer (NK) cell โดยสามารถช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของ NK cell activity ได้สูงถึง 2 เท่า [14]

ต้านไวรัสและแบคทีเรีย (Antivirus, Antimicrobial)

สารสกัดจากผลมะขามป้อมสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus, Escherichia coli (E.Coli), และเชื้อราสายพันธุ์แคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในคนอย่าง โรคอาหารเป็นพิษ โรคในระบบทางเดินอาหาร และโรคติดเชื้อทางนรีเวชได้ [16,17] และเมื่อทดลองให้หนูซึ่งติดเชื้อ K.pneumoniae ที่ระบบทางเดินหายใจ กินอาหารเสริมจากมะขามป้อม เป็นระยะเวลา 30 วัน พบว่า จำนวนแบคทีเรีย (bacterial laod) ลดลง และเพิ่มกิจกรรมการจับกินสิ่งแปลกปลอมของเม็ดเลือดขาว (Phagocytic activity) [18] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าสารประกอบฟีนอล (polyphenolic compound) ซึ่งสกัดจากมะขามป้อม สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสโรคเริม (Herpes Simplex Virus; HSV) ได้โดยสารประกอบฟีนอลจะเข้าไปทำลายผนังเซลล์ของเชื้อไวรัส และยับยั้งการสังเคราะห์ของไวรัสในเหยื่อ (host cell) ทำให้ไวรัสไม่สามารถเจริญต่อได้ [19] หากนำมะขามป้อมมาวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมอาจใช้ในการต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ ทดแทนหรือเสริมฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหากันในปัจจุบันได้

ลดไขมันในเลือด (Hypolipidemic)

มีการศึกษาพบว่าการใช้สารสกัดผลมะขามป้อมให้ผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไขมันไม่ดี (LDL-Cholestreol) ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) แต่ไม่ลดระดับไขมันดี (HDL-cholesterol) [20] ซึ่งผลของการลดระดับไขมันในเลือดนั้นสามารถช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) ได้ มีการศึกษาในหนูพบว่าเมื่อหนูอายุมากขึ้น จะมีระดับของโปรตีนที่ควบคุมการแสดงออกของยีนส์เผาผลาญไขมัน (Peroxisome proliferator-activated receptors alpha; PPARα) ลดลง แถมยังมีสารที่เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดอักเสบ (NF-kB) เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย แต่เมื่อได้ลองให้หนูได้กินสารสกัดมะขามป้อมเข้าไป พบว่ามีระดับ PPARα เพิ่มสูงขึ้น และยับยั้ง NF-kB ไม่ให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ผลการศึกษานี้จึงชี้ให้เห็นว่า มะขามป้อมอาจช่วยป้องกันไขมันในเลือดสูงที่เกิดจากอายุที่มากขึ้นได้ [21]

ผลการศึกษามากมายแสดงให้เห็นถึงสรรพคุณและประโยชน์ของมะขามป้อม ล้วนแต่น่าสนใจและเหมาะแก่การนำมาพัฒนาต่อยอดทางคลินิก ทั้งฤทธิ์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและต้านเชื้อจุลินทรีย์ ที่เราประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากฝุ่น PM2.5 หรือการช่วยลดระดับไขมันในเลือด ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases; NCDs) เพราะหากเราสามารถนำธรรมชาติมาใช้เพื่อบำบัดรักษาและป้องกันโรคได้นั้น จะสามารถลดการใช้ยาสารเคมีได้อย่างมากมาย และที่สำคัญคือเป็นภูมิปัญญา สมุนไพรไทย ใกล้ตัวเราที่หาได้ง่าย สามารถทานได้  ทุกเพศ ทุกวัย อีกด้วย  

 

แหล่งที่มา

    1.Hewlings SJ, Kalman DS. Curcumin: a review of its’ effects on human health. Foods. 2017;6(10):92.
    2.ชัชวาลย์ ช่างทำ. คุณประโยชน์และฤทธิ์ทางชีวิภาพที่หลากหลายของสมุนไพรขมิ้นชัน. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. 2015;1(2):94-109.
    3.Sahebkar A., Serbanc M.C., Ursoniuc S., Banach M. Effect of curcuminoids on oxidative stress: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. J. Funct. Foods. 2015;18:898–909.
    4.Nahak G, Sahu RK. Evaluation of antioxidantactivity in ethanolic extract of five Curcuma species. Int Res J Pharm 2011;2(12):243-8
    5.Panahi Y., Hosseini M.S., Khalili N., Naimi E., Simental-Mendia L.E., Majeed M., Sahebkar A. Effects of curcumin on serum cytokine concentrations in subjects with metabolic syndrome: A post-hoc analysis of a randomized controlled trial. Biomed. Pharmacother. 2016;82:578–582.
    6.Zorofchian Moghadamtousi S, Abdul Kadir H, Hassandarvish P, Tajik H, Abubakar S, Zandi K. A review on antibacterial, antiviral, and antifungal activity of curcumin. BioMed research international. 2014;2014.
    7.กนกพร อะทะวงษา. ขมิ้นชันกับโรคข้อเข่าเสื่อม [อินเตอร์เน็ต]. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [เข้าถึงเมื่อ 24 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://medherbguru.gpo.or.th/articles/D05_Curcuma.pdf
    8.พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. ขมิ้นชันรักษาอัลไซเมอร์ได้หรือไม่ [อินเตอร์เน็ต]. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [เข้าถึงเมื่อ 24 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://medherbguru.gpo.or.th/articles/D06_Curcuma.pdf
    9. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2561 [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 25 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/New/nlem2561.PDF
    10.Emblica officinalis (Amla): A review of potential therapeutic applications
    11.Gaire BP, Subedi L. Phytochemistry, pharmacology and medicinal properties of Phyllanthus emblica Linn. Chinese journal of integrative medicine. 2014:1-8.
    12.Reddy VD, Padmavathi P, Paramahamsa M, Varadacharyulu NC. Amelioration of alcohol‐induced oxidative stress by Emblica officinalis (amla) in rats. Indian J Biochem Biophys 2010;47:20‐5.
    13.Shivananjappa MM, Joshi MK. Influence of Emblica officinalis aqueous extract on growth and antioxidant defense system of human hepatoma cell line (HepG2). Pharm Biol 2012;50:497‐505.
    14.Suresh K, Vasudevan DM. Augmentation of murine natural killer cell and antibody dependent cellular cytotoxicity activities by Phyllanthus emblica, a new immunomodulator. J Ethnopharmacol 1994;44:55‐60.
    15.Sai Ram M, Neetu D, Yogesh B, Anju B, Dipti P, Pauline T, et al. Cyto‐protective and immunomodulating properties of Amla (Emblica officinalis) on lymphocytes: An in‐vitro study. J Ethnopharmacol 2002;81:5‐10.
    16.Vijayalakshmi S, Arunkumar V, Anju D, Gunasundari P, Moorthy P, Chandrasekharan AK. Comparative antimicrobial activities of Emblica officinalis and Ocimum sanctum. Anc Sci Life 2007;27:1‐6.
    17.Saeed S, Tariq P. Antibacterial activities of Emblica officinalis and Coriandrum sativum against Gram negative urinary pathogens. Pak J Pharm Sci 2007;20:32‐5.
    18.Saini A, Sharma S, Chhibber S. Protective efficacy of Emblica officinalis against Klebsiella pneumoniae induced pneumonia in mice. Indian J Med Res 2008;128:188‐93.
    19.Xiang Y, Pei Y, Qu C, Lai Z, Ren Z, Yang K, et al. In vitro anti‐herpes simplex virus activity of 1,2,4,6‐tetra‐O‐galloyl‐β‐D‐glucose from Phyllanthus emblica L. (Euphorbiaceae). Phytother Res 2011;25:975‐82.
    20.Gopa B, Bhatt J, Hemavathi KG. A comparative clinical study of hypolipidemic efficacy of Amla (Emblica officinalis) with 3‐hydroxy‐3‐methylglutaryl‐coenzyme‐A reductase inhibitor simvastatin. Indian J Pharmacol 2012;44:238‐42.
    21.Yokozawa T, Kim HY, Kim HJ, Okubo T, Chu DC, Juneja LR. Amla (Emblica officinalis Gaertn.) prevents dyslipidaemia and oxidative stress in the ageing process. Br J Nutr 2007;97:1187‐95.